Archives: 2014

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Reader)


     ปัจจุบันมีการนำบัตรสมาร์ทการ์ดมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในรูปแบบของบัตรประจำตัวประชาชน บัตรเงินสด บัตรเครดิต บัตรสมาชิก และอื่นๆ อีกมากมาย
เมื่อมีการนำบัตรสมาร์ทการ์ดมาใช้ จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องอ่าน-เขียนข้อมูลในบัตรสมาร์ทการ์ดหรืออุปกรณ์ที่เรียกว่า เครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Reader) โดยบางรุ่น สามารถเป็นได้ทั้งอ่าน-เขียนข้อมูลในบัตรสมาร์ทการ์ดได้ บางรุ่นสามารถอ่านข้อมูลในบัตรสมาร์ทการ์ดได้อย่างเดียว 

คุณสมบัติโดยทั่วไปของเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Reader) ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่

  • ใช้งานได้กับบัตรสมาร์ทคาร์ดในหลายรูปแบบ เช่น บัตรประชาชน บัตรเงินสด บัตรเครดิต บัตรสมาชิก และอื่นๆ 
  • มีรุ่นที่ใช้กับบัตรชนิดต่างๆ เช่น Class A,B,C (5V/3V/1.8V), Microprocessor Card (เช่น บัตรประชาชน), Memory Card, และ Contactless Card (บัตรแตะ) 
  • มีการรองรับมาตรฐานต่างๆ หลายแบบให้เลือก อาทิเช่น PC/SC (Microsoft), MCARD (SCM), EMV (Master-Visa), CCID(Microsoft) 
  • ใช้งานกับ Windows เช่น Win 98/Me/XP/Vista/2000/2003/7/8, Mac OS และ Linux 
  • ได้รับเครื่องหมายรับรองต่างๆ เช่น FCC, CE, RoHS 

การใช้งานเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Reader)
เราสามารถนำเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Reader) ไปใช้งานได้หลากหลายตามความต้องการ เช่น
  • National ID Card ใช้ร่วมกับบัตรประจำตัวประชาชน ของกรมการปกครอง ระบบทะเบียนราษฏร์ของกรมการปกครอง, ระบบประกันสุขภาพสำหรับโรงพยาบาล, ระบบ POLIS สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ระบบรายงานระบบติดตามและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด ( บสต. AntiDrug ), กรมการขนส่ง, กรมศุลกากร, กรมสรรพากร, ประกันสังคม และระบบงานราชการทุกชนิด, การใช้ในโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
  • Access Control ใช้แสดงตน (Authentication) ในการเข้าใช้งานระบบ IT ต่างๆ, ระบบคอมพิวเตอร์, Web Site, Server, VPN, Remote Logon, Smart Card Logon
  • CA/PKI Applications ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่ต้องการความเชื่อถือของระบบ เช่น การส่ง Secure e-mail, การลงลายมือชื่อดิจิตัล (Digital Signature)
  • B2B, B2C Applications เช่น ระบบจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment),  ระบบสมาชิก,  ระบบซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce)
  • EMV Applications สำหรับเครื่องอ่านบางรุ่นที่รองรับการทำงานตามมาตรฐาน EMV สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานกับบัตรเครคิตได้ในหลายรูปแบบ
  • Services Payment System เช่น การใช้บัตรในการเก็บค่าโดยสาร (e-Ticket), ค่าที่จอดรถ (Parking) ค่าผ่านทาง (Toll Collection), ค่าเช่า, ค่าสมาชิก และค่าบริการต่างๆ
  • ใช้ในธุรกิจภาคเอกชน, ธนาคาร, ประกันชีวิต, โรงพยาบาล, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, ศูนย์บริการรถยนต์, ห้างสรรพสินค้า, ธุรกิจขายตรง และหน่วยงานที่ให้บริการกับประชาชนจำนวนมาก
  • ใช้ในธุรกิจโทรคมนาคมและโทรศัพท์มือถือ เช่น ศูนย์บริการและศูนย์ซ่อมโทรศัพท์มือถือ
  • ใช้แสดงตนในการเข้าใช้ระบบต่างๆ ID Authentication, PC Log On, Network Log On, e-Banking
  • ใช้ในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เพื่อการซื้อขายสินค้าอย่างปลอดภัย
  • ใช้ในระบบบัตรสมาชิก, บัตรส่วนลด, บัตรสะสมคะแนน, Loyalty Card, e-Coupon
  • ใช้ในระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ Digital Signature, PKI, Certificate, Software Protection
  • ใช้กับระบบบัตรผ่านต่างๆ เช่นตั๋วคอนเสิร์ต, บัตรจอดรถ, เกมออนไลน์

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน ข้อดี-ข้อเสีย และประโยชน์ของบัตรสมาร์ทการ์ด

จากหัวข้อ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน ซิมการ์ด(SIM Card) และ GSM Network
ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้สมาร์ทการ์ดอีกแบบหนึ่ง ต่อไปเรามาดู ข้อดี-ข้อเสีย ของบัตรสมาร์ทการ์ด กันครับ ว่าบัตรสมาร์ทการ์ดนี้ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้าง

ข้อดี-ข้อเสีย ของบัตรสมาร์ทการ์ด
ข้อดี

  • เกิดความประหยัดในภาพรวมต่อกรณีการทำบัตรประจำตัวแบบแยกหน่วย
  • สะดวก รวดเร็ว ในการให้บริการแบบ One Stop Service ของหน่วยงานราชการ
  • เพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อระบบราชการ ตลอดจนสนับสนุนการให้บริการประชาชนตามประเภท สิทธิ และสถานะ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
  • ป้องกันการปลอมแปลงตน การแอบอ้างตนเป็นอย่างดี
  • ป้องกันการทุจริตในการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนตัวเกินจำนวนข้าราชการที่มีอยู่จริง
  • เกิดมาตรฐานของระบบบัตรประจำตัวของชนในชาติ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนา หรือประยุกต์ใช้ใน Application อื่นๆ

ข้อเสีย

  • จะต้องวางระบบป้องกันและรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนกลางของทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหายอันใหญ่หลวงจากการก่อวินาศกรรมข้อมูลในรูปแบบต่างๆ หรือการเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้โดยผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ได้
  • การร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ต้องมีการตกลงใจในระดับสูง
  • ความสามารถในการขยายงาน การออกแบบฐานข้อมูลให้รองรับความต้องการต่างๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต (เพิ่ม Option ในบัตรมากขึ้น)

ประโยชน์และการนำไปประยุกต์งานเชิงสร้างสรรค์


     สมาร์ทการ์ดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นระบบ ต่างๆได้มากมาย เช่น

  • ระบบการตรวจสอบสิทธิ การให้บริการ-รับบริการสาธารณสุข
  • ระบบการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวบุคคล เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตในทางราชการ
  • ระบบลงเวลา บันทึกข้อมูล พนักงาน, บัตรนักศึกษา ด้วยสมาร์ทการ์ด
  • ควบคุมการเข้า-ออก ด้วยบัตรสมาร์ทการ์ด (Security Access Control ) เหมือนรถไฟใต้ดิน
  • ระบบ Windows Logon ควบคุมการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์, อินเตอร์เน็ท
  • ประยุกต์ใช้งาน อื่นๆเพื่อเพิ่มความปลอดภัย เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน และ บันทึกข้อมูล ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน ซิมการ์ด(SIM Card) และ GSM Network

เราได้ทราบเกี่ยวกับ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน ส่วนประกอบและโครงสร้างของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Component & Structure) ไปแล้ว คราวนี้มาดูการนำสมาร์ทการ์ดไปใช้ในระบบโทรศัพท์กันบ้าง

ซิมการ์ด(SIM Card) และ GSM Network

     ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM Network (Group Special Mobile Network) ดังรูป Structure of a mobile station in the GSM Network ที่แสดงด่านล่าง ได้มีการนำเอาสมาร์ทการ์ดมาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่ง SIM(Subscriber Identity Module) ก็เป็นชื่อของสมาร์ทการ์ด ที่นำมาใช้กับระบบ GSM โดยที่ SIM จะมีรหัสเลขฐานสิบหกที่จะใช้ติดต่อกับระบบฐานเครือข่ายของโทรศัพท์มือถือ หรือเรียกว่า IMSI (International Mobile Subscriber) คือ ค่าเบอร์โทรที่เป็นเบอร์มาตรฐาน ทั่วโลกก็จะไม่ซ้ำกันค่านี้ ขนาด 9 byte หรือ 64 bit และค่า KI (Individual Subscriber Authentication Key) คือ ค่ารหัสประจำ SIM Card ที่ใช้ติดต่อกับเครือข่าย ค่านี้จะมีการเข้ารหัส แล้วถึงจะส่งออกไปในเครือข่าย จะมีขนาด 128 bit ดังนั้นค่า Key นี้จะมีความปลอดภัยสูง นอกจากนั้น SIM ยังใช้เก็บโปรแกรม เก็บข้อมูลอื่นๆไดอีกด้วย เช่น สมุดโทรศัพท์(Contact), ข้อมูลการโทรเข้าและโทรออก, ข้อความ(Message) เป็นต้น

รูป Structure of a mobile station in the GSM Network

     จากบัตรสมาร์ทการ์ดที่มีขนาดบัตรเท่ากับบัตรเครดิต นำบัตรมาตัดให้มีขนาด ดังรูปบนแสดงให้เห็นถึง SIM ซึ่งก็คือการนำบัตรสมาร์ทการ์ด มาตัดออกให้ได้ขนาดตามมารฐานของSIMจะเห็นได้ดังรูปโดยวงจรจะกล่าวถึงอ่าน-เขียนข้อมูลใน SIM Card เช่น สมุดโทรศัพท์, ข้อมูลการโทรเข้าและโทรออก, ข้อความ(Message) เป็นต้น ดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

                                   (ก) รูปบัตรสมาร์ทการ์ดทั่วไป     (ข) รูปซิมการ์ดที่ตัดมาจากบัตรสมาร์ทการ์ด

รูป แสดงการตัดจากบัตรสมาร์ทการ์ด

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการประยุกต์ใช้สมาร์ทการ์ด ต่อไปมาดู ข้อดี-ข้อเสีย ของบัตรสมาร์ตการ์ด กันครับ

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน ส่วนประกอบและโครงสร้างของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Component & Structure)

จากหัวข้อ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน ประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card) มาหัวข้อต่อไปเลย เป็นหัวข้อเกี่ยวกับ ส่วนประกอบและโครงสร้างของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Component & Structure)

ส่วนประกอบและโครงสร้างของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Component & Structure)

     บัตรสมาร์ทการ์ดประกอบด้วยบัตรพลาสติก กาวหรือวัสดุที่ใช้เชื่อมต่อ และหน้าสัมผัสที่บรรจุชิปบัตรสมาร์ทการ์ดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่วนประกอบต่าง ๆ แสดงให้เห็นดังรูป

รูปส่วนประกอบของบัตรสมาร์ทการ์ด

ส่วนประกอบของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card Component) ประกอบไปด้วย
1. ตัวบัตรพลาสติก
     บัตรสมาร์ทการ์ด เป็นชิป IC ขนาดเล็กที่ถูกสร้างขึ้นเช่นเดียวกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่สร้างจากสารกึ่งตัวนำ นำมาติดลงบนหน้าสัมผัส และทำการฝังลงบนในเนื้อบัตรพลาสติก ซึ่งพลาสติกที่นิยมนำมาทำเป็นตัวบัตรจะใช้พลาสติก 4 ชนิดได้แก่ PVC (Poly vinyl Chlorides), ABS (Acrylonitrile Butadiene styrene), PC(Polycarbonate) , และ PET (Polyethylene Terephthaiate) ในประเทศไทยจะใช้บัตรพลาสติกชนิด PVC มากเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนอันดับสองเป็นบัตรพลาสติกชนิด ABS ซึ่งบัตรพลาสติกชนิด PVC นำมาใช้เป็นบัตรพลาสติกชนิด ATM , บัตรเครดิต-เดบิต ,บัตรประชาชน ฯลฯ ส่วนบัตรพลาสติกชนิด ABS ไม่ค่อยพบว่าใช้งานกันมากนักเนื่องจากราคาสูงกว่า และลายที่พิมพ์ลงบนบัตรไม่สวยงามคงทนเท่าบัตรพลาสติกชนิด PVC จะพบก็เพียงบัตรพลาสติกชนิดเนื้อผสมโดยใช้บัตรพลาสติกชนิด ABS เป็นแกนและฉาบผิวพลาสติกชนิด PVCแต่ความทนทานของตัวบัตรจะสู้บัตรพลาสติกเนื้อ PVC ล้วนไม่ได้


  • ID-1 54 x 85.6 mm (ISO 7810 credit card format)
  • ID-00 33 x 66 mm
  • ID-000 15 x 25 mm (small GSM SIM card)
รูปการแบ่งชนิดของบัตรตามรูปร่างที่นำไปใช้งานและขนาด

     สำหรับบัตรพลาสติกอีกสองชนิดที่เหลือ ยังไม่พบว่ามีการใช้งานในประเทศไทย อาจเนื่องมาจากราคาที่สูงเกินไปของวัสดุที่นำมาใช้เป็นตัวบัตร และคุณสมบัตรที่ด้อยกว่าตัวบัตรพลาสติกชนิด PVC แต่ข้อเสียที่สำคัญของพลาสติกชนิด PVC ก็ไม่ด้อยไปกว่าข้อดีของมัน นั่นก็คือมันไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติซึ่งเท่ากับเป็นขยะสำหรับสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว

2. หน้าสัมผัสและชิปบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart card Module)
     บัตรสมาร์ทการ์ดโมดูลหรือหน้าสัมผัสของชิปบัตรสมาร์ทการ์ด คือ ส่วนที่แสดงความเป็นตัวตนของชิปบัตรสมาร์ทการ์ดที่ชัดเจนที่สุด บัตรสมาร์ทการ์ดบางชนิดเมื่อหยิบขึ้นมาเราอาจไม่ทราบได้เลยว่ามันคือ บัตรสมาร์ทการ์ดที่มีการฝังชิปไว้ในเนื้อบัตร ดังนั้นการที่จะระบุลงไปว่าบัตรใดเป็นบัตรบัตรสมาร์ทการ์ดนั้น ต้องที่หลักการทำงานและลูกเล่นของบัตรเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์เกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ดพอสมควร

3. โครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ในการใช้งานบัตรสมาร์ทการ์ด
     บัตรสมาร์ทการ์ดที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลายชนิด ซึ่งผู้ผลิตได้แข่งทั้งเทคโนโลยี และราคาทำให้บัตรสมาร์ทการ์ดถูกลงอย่างมาก รวมทั้งอุปกรณ์เสริมก็มีราคาถูกลงเช่นกัน ประโยชน์ที่ได้จากบัตรสมาร์ทการ์ดมีหลายอย่าง เช่น บัตรเครดิต, บัตรเดบิต, บัตรแทนเงินสด, บัตรแทนสมุดเงินฝาก, บัตรประชาชน, บัตรสุขภาพ, บัตรบันทึกการตรวจโรค, บัตรอนุญาตเข้าออกสถานที เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ว่าจะคิดและนำไปใช้กับงานอะไร จุดเด่นชองบัตรสมาร์ทการ์ด คือ ความสามารถในการประมวลผลในตัวเอง และการรักษาความปลอดภัยในข้อมูล

3.1 พื้นฐานของบัตรสมาร์ทการ์ด
     พื้นฐานของบัตรสมาร์ทการ์ด มาจากไมโครโปรเซสเซอร์ การนำชิปหน่วยความจำ(EEPROM) มาลงในบัตรพลาสติก โดยมีหน้าสัมผัสเป็นขาเชื่อมต่อระบบภายนอก การนำเอาชิปหน่วยความจำมาใส่ในบัตรพลาสติก ทำให้เกิดขอดีมากกว่าใช้แถบแม่เหล็กนอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มวงจรป้องกันลงไปอีก เพื่อให้ผู้ออกบัตร (card issue) สามารถกำหนดสิทธ์ในการเข้าถึงบัตรด้วยวงจรเมทริกธรรมดา ต่อมามีการออกแบบวงจร ให้สามารถกำหนดPIN สำหรับเข้าถึงบัตร ต้องทำการเข้ารหัสทุกครั้งเมื่อบัตรทำงานซึ่งต่อมามีการนำไมโครโปรเซสเซอร์มาใส่ลงในบัตรสมาร์ทการ์ด ทำให้การเข้าถึงข้อมูลไม่เหมือนแบบหน่วยความจำ การใส่ไมโครโปรเซสเซอร์ลงไปในบัตรสมาร์ทการ์ด ทำให้ต้องมีส่วนของOS (Operating System) สำหรับไมโครโปรเซสเซอร์ เพื่อให้ไมโครโปรเซสเซอร์สามารถทำงานได้

3.2 องค์ประกอบต่างๆในการใช้งานบัตรสมาร์ทการ์ด
  • ตัวบัตรและตัวซิป ตัวบัตรและตัวชิปโดยหลักการแล้ว บัตรสมาร์ทการ์ด เป็นเพียงบัตรที่มีชิป ฝังตัวอยู่ สามารถเก็บข้อมูลและประมวลผลได้เท่านั้น ผู้ออกแบบมีหน้าที่นำบัตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์และทำให้ปลอดภัยกับข้อมูลภายในบัตร
  • เครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด (Smart card reader) เป็นอุปกรณ์สำหรับติดต่อกับ บัตรสมาร์ทการ์ด โดยภายใน Smart card reader จะประกอบไปด้วย ซอฟต์แวร์ใช้เพื่อติดต่อกับบัตรสมาร์ทการ์ด
3.3 Memory card (synchronous card)
     ในการรับส่งข้อมูลใช้หน้าสัมผัสของบัตรสมาร์ทการ์ด ส่วนการรับส่งข้อมูลจะป้อน CLK ให้กับชิป ในการรับ-ส่งข้อมูลจำเป็นต้องให้สัมพันธ์กับ CLKที่ป้อนให้ชิปบัตรสมาร์ทการ์ดชนิดนี้มีส่วนประกอบ

3.4 Processor card (Asynchronous card)
     บัตรสมาร์ทการ์ดในปัจจุบันได้มีการใส่ไมโครโปรเซสเซอร์ เพื่อให้ชิปสามารถประมวลผลข้อมูล และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ข้อมูล การนำไมโครโปรเซสเซอร์เข้ามาใส่ในบัตรสมาร์ทการ์ด ทำให้ต้องเพิ่มหน่วยความจำเพื่อเก็บระบบปฏิบัติการ และหน่วยความจำสำหรับประมวลผลข้อมูล และมีการเพิ่มชอบในการประมวลผลทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยในการประมวลผลข้อมูลทางอัลกอริทึมสำหรับการเข้ารหัส-ถอดรหัส ทำให้บัตรสมาร์ทการ์ดชนิด Processor มีการทำงานสูงกว่าชนิด memory หลายเท่า

4. การเชื่อมต่อบัตรสมาร์ทการ์ด
4.1 การสื่อสารกับชิปบัตรสมาร์ทการ์ดในระดับสัญญาณไฟฟ้า
     การสื่อสารกับบัตรสมาร์ทการ์ดในระดับสัญญาณมีมาตรฐาน ISO 7816-3 เป็นตัวกำหนดการสื่อสาร ในปัจจุบันระดับแรงดันไฟฟ้าใช้ 3 volt ระดับแรงดันไฟฟ้าจึงอยู่ในระดับ 0-3 volt ทำให้ความสิ้นเปลืองพลังงานลดน้อยลงในการสื่อสารกับชิปบัตรสมาร์ทการ์ดจะใช้แบบ Single bus เป็นหลักจะคลายกับแบบอนุกรมแบบธรรมดาแต่ Single bus ไม่สามารสื่อสารแบบ Full Duplex และในบัตรสมาร์ทการ์ดชนิด memory จะรับส่งสัญญาณตามสัญญาณนาฬิกา ส่วน Processor บัตรสมาร์ทการ์ด จะสามรถ รับ-ส่ง ได้โดยไม่จำเป็นต้องให้สัมพันธ์กับสัญญาณนาฬิกาในการสื่อสารกับบัตรสมาร์ทการ์ดจะ รับ-ส่งข้อมูลคนละเวลากัน และมีรูปแบบบิตข้อมูลในการส่ง 2 แบบ ได้แก่

1. Direct Convention


รูปตัวอย่างการส่งข้อมูล C9 (HEX) = 1100 1001 (binary) ในรูป Direct Convention

 2. Converse Convention

รูปตัวอย่างการส่งข้อมูล C9 (HEX) = 1100 1001 (binary) ในรูป Converse Convention

Direct Convention: แทน logic “1” ด้วย Bit = “1”แทน logic “0” ด้วย Bit = “0” และ Bit แรกเป็น LSB
Converse convention: แทน logic “0” ด้วย Bit = “1”แทน logic “1” ด้วย Bit = “0” และ Bit แรกเป็น MSB
แต่ทางที่ดีควรสร้าง Card Driver ให้สามารถตอบสนองการสื่อสารได้ทั้ง 2 แบบ


รูปตัวอย่างการใช้รับ-ส่งข้อมูลในบัตรสมาร์ทการ์ด

และในหัวข้อต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ซิมการ์ด(SIM Card) และ GSM Network

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน ประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card)

ประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card)


     จากหัวข้อ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน บัตรสมาร์ทการ์ด(Smat Card) คืออะไร เราได้รู้ว่าบัตรสมาร์ทการ์ด(Smat Card) คืออะไร ต่อไป เราจะมาดูประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card) ว่ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง

     ประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ดนั้น สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
ประเภทที่ 1 บัตรสมาร์ทการ์ดแบบสัมผัส(contact smart card) 
     บัตรสมาร์ทการ์ดแบบสัมผัส(contact smart card) ตัวบัตรมีการฝังชิปใต้หน้าสัมผัสที่เป็นแผ่นโลหะสีทองขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้วไว้ที่ด้านหน้าของบัตร ตอนใช้งานต้องสอดบัตรเข้าในเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ดให้หน้าสัมผัสของบัตรได้แตะกับหน้าสัมผัสภายในเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด จากนั้นก็จะมีการถ่ายโอนข้อมูลเข้า-ออกระหว่างชิปกับเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด โดยส่วนใหญ่จะเป็นกับบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็ม ปัจจุบันประเทศไทยได้ใช้บัตรสมาร์ทการ์ดชนิดนี้ทำบัตรประจำตัวประชาชนหรือซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันมีการทำบัตรเครดิตที่เป็นบัตรสมาร์ทการ์ดแบบสัมผัสด้วยเป็นบัตรวีซ่า pay wave เช่น บัตรบลูการ์ด เป็นต้น

ประเภทที่ 2 บัตรสมาร์ทการ์ดแบบไร้สัมผัส(contactless smart card)
     บัตรสมาร์ทการ์ดแบบไร้สัมผัส(contactless smart card) ตัวบัตรจะมีการฝังชิปและขดลวดสายอากาศเอาไว้ภายในซึ่งอาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามารถติดต่อกับเครื่องอ่านบัตรที่รับส่งสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุได้ในระยะที่กำหนด ซึ่งอาจเป็นระยะที่ใกล้ชิด(proximity card) หรือระยะที่ใกล้เคียง(vicinity card) แล้วแต่มาตรฐานของบัตร ซึ่งใช้ในการติดต่อกับเครื่องรับ-เครื่องส่งที่อยู่ในระยะไกล (Remote Receiver/Transmitter) โดยไม่จำเป็นต้องให้บัตรสัมผัสกับเครื่องอ่านดังกล่าว ส่วนใหญ่จะใช้กับบัตรเก็บเงินทางด่วน บัตรโดยสารของรถไฟฟ้า บีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน และบัตรชำระเงินย่อยเช่นบัตร Smart Purse เป็นต้น

     นอกจากประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ดทั้งสองแบบดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีการผลิตบัตรสมาร์ทการ์ดแบบผสม หรือที่เรียกว่า คอมบิ การ์ด(Combi Card) ออกมาใช้งานอีกด้วย โดยบัตรแบบนี้เป็นบัตรใบเดียว แต่ทำหน้าที่เป็นทั้งบัตรสมาร์ทการ์ดแบบมีการสัมผัส และบัตรสมาร์ทการ์ดแบบไม่มีการสัมผัส เพื่อเพิ่มความสะดวกและประโยชน์ในการใช้งานมากขึ้น

     พลาสติกที่นำมาใช้ผลิตบัตรสมาร์ทการ์ด มีอยู่หลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ พีวีซี (PVC-Polyvinyl Chloride) และเอบีเอส (ABS-Acrylonitrile Butadiene Styrene) อย่างไรก็ดี การใช้พีวีซีมีข้อดี คือ  สามารถพิมพ์ลายนูนได้ แต่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนเอบีเอสไม่สามารถพิมพ์นูนได้ แต่นำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ขนาดของบัตรพลาสติกถูกกำหนดโดยมาตรฐานระหว่างประเทศ ISO 7810 ซึ่งได้กำหนดถึงคุณลักษณะทางกายภาพของพลาสติก ที่นำมาใช้ทำบัตรด้วย เช่น ความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิ ความยืดหยุ่นในการใช้งาน ตำแหน่งของหน้าสัมผัสทางไฟฟ้า เป็นต้น

     ในบัตรสมาร์ทการ์ด มีกลไกการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลหลายแบบ หากเป็นบัตรที่ใช้เก็บข้อมูลอย่างเดียว(Memory Only Card) จะมีความซับซ้อนน้อยกว่าบัตรที่ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ การป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่บรรจุภายในบัตรสมาร์ทการ์ด ควบคุมได้ 2 แนวทาง คือ

1. ควบคุมบุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น

  • เข้าถึงได้ทุกคน
  • เฉพาะผู้ถือบัตร
  • บุคคลที่ระบุไว้เท่านั้น

2. ควบคุมด้วยวิธีการเข้าถึงข้อมูล โดยข้อมูลในบัตรสมาร์ทการ์ดนั้น สามารถแบ่งออกได้หลายส่วน เช่น

  • ข้อมูลที่อ่านได้อย่างเดียว
  • ข้อมูลที่เพิ่มได้อย่างเดียว
  • ข้อมูลที่ทั้งอ่านและเพิ่มได้
  • ข้อมูลที่ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้อย่างเดียว
  • ข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้เลย
หัวข้อต่อไปจะนำเสนอเกี่ยวกับหัวข้อ ส่วนประกอบและโครงสร้างของสมาร์ตการ์ด


ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน บัตรสมาร์ทการ์ด(Smat Card) คืออะไร

บัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card) คืออะไร


     บัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card) คือ บัตรพลาสติกที่มีชิป IC (Integrated circuit) ติดหรือฝังอยู่ในตัวบัตรพลาสติกมีขนาดเท่าบัตรเครดิต เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลภายในตัวเองโดยวิธีการเข้ารหัสตามมาตรฐานเพื่อให้ระบบมีความปลอดภัยสูงขึ้น ด้วยคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้บัตรสมาร์ทการ์ดมีความแตกต่างจากบัตรพลาสติกทั่วไปก็คือ ขณะทำรายการ (Transaction) บัตรสมาร์ทการ์ดสามารถทำงานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยการติดต่อสื่อสารกับระบบหลัก (Font End) นั้นก็คือบัตรสมาร์ทการ์ดไม่จำเป็นต้องมีการติดต่อสื่อสาร กับศูนย์กลางข้อมูลเหมือนกับบัตรแถบแม่เหล็ก (Off-line) ทำให้ประหยัดในเรื่องระบบสื่อสารไปได้มาก

     ในการประมวลผล และจัดเก็บข้อมูล บัตรสมาร์ทการ์ดสามารถทำได้อย่างรวดเร็วกว่าสื่อสำหรับเก็บข้อมูลชนิดอื่น ๆ ด้วยขนาดที่เท่ากับบัตรแถบแม่เหล็กทำให้สะดวกในการจัดเก็บและพกพา นอกจากนี้บัตรสมาร์ทการ์ดยังมีคุณสมบัติด้านความทนทานที่น่าทึ่งไม่ว่าจะเป็น รังสีชนิดต่างๆ (ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์) สนามแม่เหล็ก ไฟฟ้าสถิต ความชื้น ความร้อน การบิดงอ ฯลฯ ก็ไม่สามารถทำให้บัตรสมาร์ทการ์ดเสียหายได้โดยง่าย จึงทำให้บัตรสมาร์ทการ์ดเทียบเท่าบัตรในทางอุดมคติ ในต่างประเทศก็ได้มีการใช้งานบัตรสมาร์ทการ์ดกันอย่างแพร่หลาย จนเป็นไปได้ว่าบัตรสมาร์ทการ์ดกำลังเป็นบัตรชนิดใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่บัตรแบบแถบแม่เหล็กที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน

หัวข้อต่อไปจะนำเสนอเกี่ยวกับหัวข้อ ประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card) ติดตามต่อไปเลย...