ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน ประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card)

ประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card)


     จากหัวข้อ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัตรสมาร์ทการ์ด ตอน บัตรสมาร์ทการ์ด(Smat Card) คืออะไร เราได้รู้ว่าบัตรสมาร์ทการ์ด(Smat Card) คืออะไร ต่อไป เราจะมาดูประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ด(Smart Card) ว่ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง

     ประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ดนั้น สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
ประเภทที่ 1 บัตรสมาร์ทการ์ดแบบสัมผัส(contact smart card) 
     บัตรสมาร์ทการ์ดแบบสัมผัส(contact smart card) ตัวบัตรมีการฝังชิปใต้หน้าสัมผัสที่เป็นแผ่นโลหะสีทองขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้วไว้ที่ด้านหน้าของบัตร ตอนใช้งานต้องสอดบัตรเข้าในเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ดให้หน้าสัมผัสของบัตรได้แตะกับหน้าสัมผัสภายในเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด จากนั้นก็จะมีการถ่ายโอนข้อมูลเข้า-ออกระหว่างชิปกับเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด โดยส่วนใหญ่จะเป็นกับบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็ม ปัจจุบันประเทศไทยได้ใช้บัตรสมาร์ทการ์ดชนิดนี้ทำบัตรประจำตัวประชาชนหรือซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันมีการทำบัตรเครดิตที่เป็นบัตรสมาร์ทการ์ดแบบสัมผัสด้วยเป็นบัตรวีซ่า pay wave เช่น บัตรบลูการ์ด เป็นต้น

ประเภทที่ 2 บัตรสมาร์ทการ์ดแบบไร้สัมผัส(contactless smart card)
     บัตรสมาร์ทการ์ดแบบไร้สัมผัส(contactless smart card) ตัวบัตรจะมีการฝังชิปและขดลวดสายอากาศเอาไว้ภายในซึ่งอาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามารถติดต่อกับเครื่องอ่านบัตรที่รับส่งสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุได้ในระยะที่กำหนด ซึ่งอาจเป็นระยะที่ใกล้ชิด(proximity card) หรือระยะที่ใกล้เคียง(vicinity card) แล้วแต่มาตรฐานของบัตร ซึ่งใช้ในการติดต่อกับเครื่องรับ-เครื่องส่งที่อยู่ในระยะไกล (Remote Receiver/Transmitter) โดยไม่จำเป็นต้องให้บัตรสัมผัสกับเครื่องอ่านดังกล่าว ส่วนใหญ่จะใช้กับบัตรเก็บเงินทางด่วน บัตรโดยสารของรถไฟฟ้า บีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน และบัตรชำระเงินย่อยเช่นบัตร Smart Purse เป็นต้น

     นอกจากประเภทของบัตรสมาร์ทการ์ดทั้งสองแบบดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีการผลิตบัตรสมาร์ทการ์ดแบบผสม หรือที่เรียกว่า คอมบิ การ์ด(Combi Card) ออกมาใช้งานอีกด้วย โดยบัตรแบบนี้เป็นบัตรใบเดียว แต่ทำหน้าที่เป็นทั้งบัตรสมาร์ทการ์ดแบบมีการสัมผัส และบัตรสมาร์ทการ์ดแบบไม่มีการสัมผัส เพื่อเพิ่มความสะดวกและประโยชน์ในการใช้งานมากขึ้น

     พลาสติกที่นำมาใช้ผลิตบัตรสมาร์ทการ์ด มีอยู่หลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ พีวีซี (PVC-Polyvinyl Chloride) และเอบีเอส (ABS-Acrylonitrile Butadiene Styrene) อย่างไรก็ดี การใช้พีวีซีมีข้อดี คือ  สามารถพิมพ์ลายนูนได้ แต่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนเอบีเอสไม่สามารถพิมพ์นูนได้ แต่นำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ขนาดของบัตรพลาสติกถูกกำหนดโดยมาตรฐานระหว่างประเทศ ISO 7810 ซึ่งได้กำหนดถึงคุณลักษณะทางกายภาพของพลาสติก ที่นำมาใช้ทำบัตรด้วย เช่น ความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิ ความยืดหยุ่นในการใช้งาน ตำแหน่งของหน้าสัมผัสทางไฟฟ้า เป็นต้น

     ในบัตรสมาร์ทการ์ด มีกลไกการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลหลายแบบ หากเป็นบัตรที่ใช้เก็บข้อมูลอย่างเดียว(Memory Only Card) จะมีความซับซ้อนน้อยกว่าบัตรที่ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ การป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่บรรจุภายในบัตรสมาร์ทการ์ด ควบคุมได้ 2 แนวทาง คือ

1. ควบคุมบุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น

  • เข้าถึงได้ทุกคน
  • เฉพาะผู้ถือบัตร
  • บุคคลที่ระบุไว้เท่านั้น

2. ควบคุมด้วยวิธีการเข้าถึงข้อมูล โดยข้อมูลในบัตรสมาร์ทการ์ดนั้น สามารถแบ่งออกได้หลายส่วน เช่น

  • ข้อมูลที่อ่านได้อย่างเดียว
  • ข้อมูลที่เพิ่มได้อย่างเดียว
  • ข้อมูลที่ทั้งอ่านและเพิ่มได้
  • ข้อมูลที่ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้อย่างเดียว
  • ข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้เลย
หัวข้อต่อไปจะนำเสนอเกี่ยวกับหัวข้อ ส่วนประกอบและโครงสร้างของสมาร์ตการ์ด


0 comments

Leave a Reply